มาทำความรู้จักกับไมค์โครโฟน (Microphone)

Last updated: 22 ธ.ค. 2560  |  59055 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มาทำความรู้จักกับไมค์โครโฟน (Microphone)

มาทำความรู้จักกับไมค์โครโฟน (Microphone)

ก่อนจะซื้อไมโครโฟนสักตัว ต้องคำนึงว่าเราจะเอาไปอัดเสียงอะไร เหตุเพราะว่า ไมโครโฟนแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะการใช้งานและคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป การใช้ไมค์ราคาแพงๆ ไม่ได้หมายความว่าจะได้คุณภาพงานที่ดี หากเอาไปใช้ไม่ถูกประเภทของงาน
 

ชนิดของไมโครโฟน

ในระยะเวลาที่ผ่านมา ไมโครโฟน ได้รับการพัฒนา และออกแบบ ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานแต่ละแบบ

หากจะแบ่งตามโครงสร้าง จะแบ่งออกได้เป็น 6 ชนิด คือ

คริสตอลไมโครโฟน (Crystal Micophone)

เซอรามิคไมโครโฟน (Ceramic Microphone)

คาร์บอนไมโครโฟน (Carbon Microphone)

ริบบอนไมโครโฟน (Ribbon Microphone)

ไดนามิคไมโครโฟน (Dynamic Microphone)

คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน (Condenser Microphone)

แต่ในวันนี้ ขอแนะนำเพียง 2 ชนิด ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันและเรามักจะพอเจอกันบ่อยๆ นั่นก็คือ

ไดนามิคไมโครโฟน และ คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน แล้วตัวไหนจะเหมาะสมกับการใช้งานของเรา เราต้องเข้าใจหลักการทำงานของไมค์โครโฟนแต่ละชนิดก่อน  ลองมาดูว่า ไมค์ทั้งสองชนิดนี้ ต่างกันยังไง

-ไมโครโฟนแบบไดนามิค (Dynamic Microphone) เป็นไมโครโฟนที่ใช้หลักการของการเคลื่อนที่ของขดลวดผ่านสนามแม่เหล็กถาวร และเกิดเป็นแรงเคลื่อนไฟฟ้าตามคลื่นเสียงที่มากระทบ ไดนามิคไมโครโฟน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีความทนทานพอสมควร และสามารถทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ไฟเลี้ยง ไมค์ประเภทนี้มักไม่ค่อยไว  อาจเก็บรายระเอียดเสียงได้ไม่เท่าไมค์ประเภทอื่น ไม่นิยมที่จะใช้จับAmbient(เสียงบรรยากาศ) แต่มักจะนิยมใช้ในงานแสดงสด เพราะไม่ค่อยจับเสียงรบกวน ส่วนในสตูดิโอ ก็อาจนำมาใช้บึนทึกเสียงเครื่องดนตรี ประเภทที่มีการกระชากของเสียงมากๆ เช่น ชุดกลอง เบส

-ไมโครโฟนแบบคอนเดนเซอร์ (Condenser Microphone) ภายในประกอบด้วย แผ่น diaphragm บาง ๆ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิค ซึ่งไมค์ชนิดนี้จำเป็นต้องใช้ไฟเลี้ยงแรงดันตั้งแต่ 1.5 ถึง 48โวลท์ เพื่อทำให้วงจรอิเลคทรอนิคทำงาน ไมค์ชนิดนี้ มีความไวเสียงสูง สามารถรับช่วงความถี่เสียงได้กว้างกว่าไมค์ไดนามิค ให้รายระเอียดเสียงที่ดี เหมาะสำหรับเครื่องดนตรีประเภทอคูสติก ส่วนใหญ่จะนิยมใช้งานในห้องหรือสตูดิโอ ข้อดีคือ เสียงที่ได้มีความชัดเจนเก็บรายละเอียดได้ดี แต่เนื่องจากความไวสูง หากนำไปใช้ในที่ที่มีเสียงรบกวนสูง ต้องใช้อย่างระมัดระวัง

เมื่อเราทราบชนิดของไมโครโฟนแล้ว ต่อไปก็มาดูเรื่องรูปแบบการรับเสียง (Polar Patterns) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท

รูปแบบการรับเสียง


1.Cardioid (รูปแบบการรับเสียงแบบเฉาะด้านหน้า)

 ไมโครโฟนที่มีรูปแบบการรับเสียงแบบ Cardioid สามารถรับเสียงจากทางด้านหน้าได้ดีที่สุด ไล่มาด้านข้างเสียงจะลดลงเล็กน้อยแต่ยังรับได้ดี ส่วนเสียงที่มาจากทางด้านหลังจะรับได้น้อยมากๆ หรือไม่ได้เลย จึงเหมาะกับการใช้งานที่ไม่ต้องการให้เสียงบรรยากาศเข้ามามากๆ นิยมใช้ในสตูดิโอและงานแสดงสด เพราะช่วยลดเสียงรบกวนจากทิศทางอื่นๆ

 



2.Supercardioid (รับเสียงทั้งด้านหน้าและด้านหลังไมโครโฟน แต่รับเสียงด้านหน้าได้มากกว่า)

ไมโครโฟนที่มีรูปแบบการรับเสียงแบบSupercardioid มีองศาการรับเสียงด้านหน้าได้ดีที่สุดแต่แคบกว่า Cardioid คือรับเสียงจากด้านข้างได้น้อย มักนิยมใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการแยกการบันทึกที่เน้นเจาะจงแหล่งกำเนิดเสียงใดแหล่งกำเนิดเสียงหนึ่ง เพราะให้ทิศทางการรับเสียงที่แคบกว่า แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือสามารถรับเสียงจากด้านหลังได้อีกด้วย ซึ่งอาจต้องระวังเสียงรบกวนจากด้านหลังด้วย



3.Hypercardioid(รับเสียงทั้งด้านหน้าและด้านหลังไมโครโฟน แต่รับเสียงด้านหน้าได้มากกว่า)

ไมโครโฟนที่มีรูปแบบการรับเสียงแบบHypercardioid มีลักษณะการใช้งานคล้ายกับSupercardioid แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ Hypercardioid จะมีการรับเสียงทางด้านหน้าได้แคบกว่า(เสียงด้านข้างเข้าน้อยลงไปอีก) แต่การรับเสียงจากด้านหลังกลับมากว่า ซึ่งก็เป็นข้อดีข้อเสียกันคนละอย่าง

การใช้งานไมโครโฟนแบบSupercardioid และ Hypercardioid หากใช้บันทึกเสียงในห้องหรือสตูดิโอ ต้องระมัดระวัง เสียงที่สะท้อนมาจากทางด้านหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดเสียงก้องมากกว่าแบบcardioid


 4.Bidirectional(รับเสียงทั้งด้านหน้าและด้านหลังไมโครโฟนเกือบเท่ากัน)

ไมโครโฟนที่มีรูปแบบการรับเสียงแบบBidirectional เป็นไมค์ที่เน้นการรับเสียงทางด้านหน้าและด้านหลังได้ดี โดยจะรับเสียงจากด้านข้างได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย



5.Omnidirectional(แบบรับเสียงรอบทิศทาง)

ไมโครโฟนที่มีรูปแบบการรับเสียงแบบOmnidirectional เป็นไมโครโฟนที่รับเสียงได้รอบทิศทาง โดยไมค์แบบนี้จะเหมาะสำหรับการบันทึกเสียงทั่วไป เพราะมีการตอบสนองความถี่กว้าง แต่มีโอกาสที่จะเกิดเสียงรบกวนหรือเสียงหอนได้ง่าย และไม่ควรพูดห่างจากไมโครโฟนมากนัก

ในวันนี้ก็รู้จักกับชนิดของไมโครโฟนกันคร่าวๆแล้ว สำหรับตอนต่อไป จะมาแนะนำการเลือกใช้ไมโครโฟนให้เหมาะสมต่อการใช้ โปรดติดตามชมครับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้